Sponsor

  • วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

    wtraimit181

    วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 เป็นอารมหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

    วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีน(อันนี้ผู้มีอายุหน่อยจะรู้สึกคุ้นหูเป็นอย่างดี) เข้าใจกันว่ามีคนจีน 3 คนเป็นผู้ร่วมสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ และยังมีเรื่องเล่ากันว่า เดิมมีอยู่สามวัด คือ

    วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรงข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง

    วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางที่ก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี

    วัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัด ไตรมิตรวิทยาราม

    แต่ก่อนสภาพวัดไตรมิตรวิทยาราม โดยทั่วบริเวณเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก ในปี พ.ศ. 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาล อยู่ภายในบริเวณของวัด

     

    สิ่งสำคัญของวัด คือ

     

    wtraimit80311 พระพุทธทศทลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อ วัดสามจีน”  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสอกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก

     

    wtraimit1411 พระพุทธสุโขทัยไตรมิตร ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปทองคำ แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อมาได้ถูกอันเชิญมาประดิษฐานที่วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) เนืองจากวัดพระยาไกรได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง

    พระพุทธรูปปูนปั้นจึงถูกอัญเชิญมาตั้งแต่นั้น โดยในขณะที่ยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนาน จนล่วงเลยไปถึง ๒๐ ปี ใน พุทธศักราช ๒๔๙๘ การบูรณะจึงเสร็จสิ้นเรียบร้อย

    เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธา ธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถระ ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกองค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง

    ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเห็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออก ก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาส จึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์ ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธ ลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก

    ความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายหมดสิ้นลงเมื่อมีการคุ้ยดินใต้ฐานทับเกษตรออก และพบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ ๙ ส่วน เพื่อสะดวกต่อการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร จึงดำเนินการถอดองค์พระออกแต่เพียง ๔ ส่วน คือ ส่วนพระศอ ส่วนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และส่วนพระนาภี ทำให้สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยราบรื่น

    การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วหน้า มีการตรวจสอบ และประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา (มาตราทองคำของไทยโบราณตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๔ บาท ทองเนื้อเจ็ด คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๗ บาท ซึ่งเป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ซึ่งทองเนื้อเก้าจะเริ่มพบที่บางตะพานในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เรียกกันว่าทองคำบางตะพาน ส่วนคำว่าสองขาหมายถึง ๒ สลึง) มีน้ำหนักกว่า ๕ ตัน คิดเป็นน้ำหนักทองคำ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘ ) ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๙๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาท) อันเป็นราคาทองคำที่ถูกประเมินในครั้งแรก

    พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็น “พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้ทำการประเมินค่าอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบันทึกไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุด ในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง ๒๑.๑ ล้านปอนด์

     

    แผนที่


    ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

     

    ขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/ และ http://www.wattraimitr-withayaram.com/

     

0 ความคิดเห็น:

Leave a Reply

Ads